“ยธ.-ป.ป.ส.” จัดประกวดสื่อรู้ทันยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันเยาวชน

ปลัดยุติธรรม จับมือ “เลขา ป.ป.ส.” คิกออฟจัดประกวดสื่อสร้างสรรค์รู้ทันยาเสพติด ดึงเยาวชนมีส่วนร่วม-หวังตัดวงจรขายยา ชี้เยาวชนคือต้นทาง หากรู้ทันก็ขายยาไม่ได้

นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานแถลงข่าวการประกวดสื่อสร้างสรรค์รู้เท่าทันยาเสพติด ภายใต้แนวคิด “รู้คิด รู้เท่าทันยาเสพติด” ที่สำนักงาน ป.ป.ส. โดยมี นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ผู้บริหารกระทรวง ศิลปิน/อินฟลูเอนเซอร์ เก่ง ธชย ประทุมวรรณ, พรอยมน มนสภรณ์ ชาญเฉลิม, สก๊อต ธธรรศ ประทุมวรรณ และ ครูทอม คำไทย เข้าร่วม

โดย นางพงษ์สวาท กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ชักจูงให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น การเห็นพฤติกรรมจากคนรอบข้าง สื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง อยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ ดังนั้นหากเด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถตัดสินใจ รู้คิด และรู้เท่าทันยาเสพติด โอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะน้อยลง โดยจะเห็นได้ว่าเยาวชนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยที่ปลอดยาเสพติด

“การมีส่วนร่วมป้องกันยาเสพติดของเยาวชนนั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้ง รู้จักป้องกันตนเอง ปฏิเสธเมื่อถูกชักชวน ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสาร ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมทางเลือก ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนกลายเป็นพลังเล็กๆ รวมกันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการป้องกันยาเสพติดต่อไป” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว

ด้าน นายวิชัย กล่าวว่า การจัดประกวดสื่อสร้างสรรค์รู้ทันยาเสพติด เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง เพราะเยาวชนถือเป็นกลุ่มสำคัญที่เราต้องช่วยกันสร้างการรับรู้ เพื่อให้เยาวชนรู้ถึงภัยของยาเสพติดที่ส่งผลเสียทุกด้าน ทั้ง ครอบครัว สังคม ประเทศ โดยหากเราดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติด ก็จะช่วยตัดวงจรการขายได้ เพราะหากกลุ่มเยาวชนรู้เท่าทันไม่หลงไปใช้ยาเสพติด ก็จะทำให้ขบวนการค้ายาเสพติด ไม่สามารถขายยาเสพติดได้ ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมเตือนภัยด้วยกันเอง จะทำให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้มากขึ้น และแก้ปัญหาได้แบบครบวงจร

ด้าน น.ส.พรอยมน ยังได้แชร์ประสบการณ์ว่า การสร้างความน่าสนใจในออนไลน์ให้ผู้คนเข้ามาติดตาม ก็คือการสร้างเอกลักษณ์ของเรา แสดงให้เห็นถึงความเป็นเรา อย่างการประกวดสื่อสร้างสรรค์ รู้ทันยาเสพติด หลายคนอาจกังวลว่า คนอื่นมีคลิปที่ลงทุนถ่ายทำหรือเป็นคนเก่งมาก แต่แท้จริงแล้วติ๊กต่อกที่เป็นแพลตฟอร์มคนดูทุกวัน เขาชอบดูไลฟ์สไตล์ความเป็นเราซึ่งสำคัญที่สุด

นอกจากนี้ นายวิชัย ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เยาวชนเป็นวัยที่อยากลอง เราจึงเข้ามาช่วยส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ควบคู่ไปกับการปราบปรามยาเสพติด โดยหากเราทำควบคู่กันไป ยาเสพติดก็จะขายได้ยากขึ้น พร้อมดึงเยาวชนหรือประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส 1386 ซึ่งตนขอเน้นย้ำว่า มีความปลอดภัย 100% แน่นอน

ส่วนข้อห่วงใยของสังคมเรื่องผู้เสพเท่ากับผู้ป่วยนั้น สังคมอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า มียาเสพติดไม่เกิน 15 เม็ด เป็นผู้ป่วย ไม่ถูกดำเนินคดี เป็นการเข้าใจที่ผิด เพราะหากมียาเสพติดเพียง 3-4 เม็ด แต่มีพฤติกรรมค้ายา ก็จะถูกดำเนินคดีมีโทษไม่เกิน 15 ปี ไม่ใช่ไม่มีความผิด ซึ่งการที่กฎหมายมองว่าผู้เสพคือผู้ป่วยนั้น เพราะเราถือว่าผู้เสพรายย่อยเป็นเหยื่อที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา แล้วไปเอาผิดหนักกับผู้ค้ายารายใหญ่ที่เป็นต้นทางของปัญหา.